วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

มงคลหมู่ที่ 9

มงคลหมู่ที่ 9 การฝึกภาคปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส ให้สิ้นไป      
     จากการปฏิบัติตามหลักมงคลตั้งแต่มงคลหมู่ที่ 1 ฝึกตนเองให้เป็นคนดี ถึงมงคลหมู่ที่ 8 การแสวงหาธรรมะเบื้องสูงใส่ตัวอย่างเต็มที่แล้ว เราจะพบว่าได้ขัดเกลาพฤติกรรมที่ไม่ดีไปได้หลายประการรวมทั้งได้ปรับปรุงปลูกฝังพฤติกรรมและคุณธรรมที่ดีๆ จากผู้มีคุณธรรมสูงใส่ในตนได้อย่างเต็มที่จนมีความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ในการพันาตนเองขั้นต่อไปเป็นก้าวที่สำคัญ ที่จะขัดเกลาอุปนิสัย พฤติกรรมที่ไม่ดีที่ยังคั่งค้างในใจให้หมดไป อย่างถอนรากถอนโคนด้วยการเริ่มปฏิบัติอย่างเข้มข้น ในมงคลหมู่ที่ 9 นี้จะเป็นการลงมือปฏิบัติฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อกำจัดกิเลส ให้หมดไปดังนี้



         31. บำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญกิเลส ทุกชนิดให้ร้อนตัวจนทนอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด ต้องเผ่นหนีไป แล้วใจของเราก็จะผ่องใสหมดทุกข์ ด้วยการประพฤติธุดงควัตร 13 ประการทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว และเข้าถึงนิพพานได้เร็ว อุปมาเหมือนการถลุงแร่ ด้วยความร้อนจนเหลือแต่แร่ที่บริสุทธิ์เท่านั้น




       32. ประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติตนอย่างพระพรหม หรือความประพฤติอันประเสริฐหมายถึง การประพฤติตามคุณธรรมต่างๆทั้งหมดในพระพุทธศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ภายหลังจากบำเพ็ญตบะจนกิเลส เบาบางไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลส ฟูกลับขึ้นมาอีก ต้องตัดโลกียวิสัยตัดเยื่อใยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องยกใจออกจากกามอันเป็นที่มาของความเสื่อม และจะนำความทุกข์นำกิเลส มาสู่ใจของเราอีก ซึ่งต้องปฏิบัติผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิชั้นของจิต เลื่อนภูมิจิตของเราให้สูงขึ้นมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ จนกระทั่งหมดกิเลส




        33. อริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ ความจริงที่ทำให้บุคคลผู้เห็นเป็นผู้ประเสริฐ เป็นความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือทั้งรู้และเห็นแล้ว ทรงชี้ให้เราดูพร้อมทั้งสอนให้ปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิเพื่อได้รู้เห็น และหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้เช่นเดียวกับพระองค์

         เห็นอริยสัจ คือตั้งใจปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิต่อไปอีกอย่างยิ่งยวดจนเกิดปัญญาสว่างไสวเห็นอริยสัจ 4 ด้วยธรรมจักษุ รู้แจ้งทุกข์ที่แท้จริงสาเหตุแห่งความทุกข์ วิธีปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างแท้จริง และภาพของจิตของบุคคลที่หมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง



       34. ทำนิพพานให้แจ้ง คือเมื่อเห็นอริยสัจในเบื้องต้นแล้วก็ตั้งใจเจริญภาวนาต่อไป ประคองใจหยุดนิ่งไปเรื่อย ๆ  พิจารณาอริยสัจไปตามลำดับให้ใจละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นจนทำนิพพานให้แจ้งได้ กิเลส ต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ล่อนหลุดไปจากใจตามลำดับจนหมดกิเลส 

เป็นพระอรหันต์ พ้นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้ในที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น